ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม



        จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย) เป็นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะพิเศษอันเกิดจากบริบททางสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต ภาษา ค่านิยม ฯลฯ เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น นั่นคือ ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การปฏิบัติงานภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมและนโยบายเฉพาะท้องถิ่น จึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่บุคลากรภาครัฐผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จะต้องเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนัก เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลตอบสนองต่อยุทธศาสตร์และนโยบายของภาครัฐ ทั้งยังเป็นการลดช่องว่างระหว่างบุคลากรภาครัฐ และประชาชน การกำหนดคุณสมบัติของบุคลากรภาครัฐผู้เข้ามาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะบุคลากรภาครัฐเป็นกลไกหลักในการนำนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการเชื่อมประสานความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม สังคม ความคิด ความเชื่อ ระหว่างชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
        ตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 9(9) ซึ่งกำหนดให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และบูรณาการการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐฝ่ายพลเรือนเพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชน และตามแผนปฏิบัติการเสริมสร้างการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2562 ของ ศอ.บต. แนวทางที่ 3 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลยุทธ์ที่ 1 การพัฒนาเจตคติทรัพยากรมนุษย์ แนวทางกลยุทธ์ที่ (1) เร่งรัดการสร้างต้นแบบความเข้มแข็งทางคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำของเด็ก และเยาวชน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวทางที่ 4 กำรบริหารจัดการภาครัฐ กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบและครบวงจร
แนวทางกลยุทธ์ที่ (2) จัดการวางระบบการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่มาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน มีรูปแบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มต่างๆให้มีทักษะ ความชำนาญเฉพาะและเพียงพอต่อการนำไปใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน
        สถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้การดำเนินภารกิจเพื่อหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นทิศทางในการก าหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป