ศอ.บต. แถลงข่าวการจัดนิทรรศการ รายอกีตอ ตอน “100 ปี หลักรัฐประศาสโนบายล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 น้อมนำ สืบสาน สู่การปฏิบัติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และกระตุ้นจิตสำนึก ของข้าราชการและบุคลากรของรัฐให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบและทำงานอยู่ภายใต้แนวทาง หลักรัฐประศาสโนบายอย่างเต็มขีดความสามารถ

20/06/2023 at 8:30 PM

วันนี้ (20 มิถุนายน 2566) ที่ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการแถลงข่าวจัดกิจกรรม รายอกีตอ ตอน “100 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนำ สืบสาน สู่การปฏิบัติ” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และกระตุ้นจิตสำนึก ของข้าราชการและบุคลากรของรัฐให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบและทำงานอยู่ภายใต้แนวทางหลักรัฐประศาสโนบายอย่างเต็มขีดความสามารถ ทั้งนี้ ภายในงานมี นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกเทศมนตรีนครยะลา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ของ ศอ.บต. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากร ศอ.บต. ผู้แทนส่วนราชการ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวว่า นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากบริเวณ 7 หัวเมืองเป็นมณฑลปัตตานี เริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีพระราชบัญญัติ การประถมศึกษาแห่งชาติเมื่อปี 2465 ที่มุ่งหวังพัฒนาคนโดยเฉพาะทางด้านการศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถอย่างทัดเทียมกันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนโดยเฉพาะการเรียนศาสนาประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยรวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงอาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลาดังกล่าวพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบปัญหาทั้งด้านคุณภาพชีวิต และมิติทางสังคมจิตวิทยา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงเล็งเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ทรงวางกรอบแนวทางในการทำงาน การแก้ปัญหารวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่ไว้เป็นหลัก เรียกว่า “หลักรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ” โดยมี ใจความสำคัญคือ

ข้อ 1 ระเบียบหรือวิธีปฏิบัติอย่างใดเป็นทางให้พลเมืองรู้สึกเห็นไปว่า เป็นการเบียดเบียน กดขี่ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที การใดจะจัดขึ้นใหม่ต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลาม หรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุน ศาสดามูฮัมหมัดได้ยิ่งดี

ข้อ 2 การกะเกณฑ์อย่างใดๆ ก็ดี การเก็บภาษีอากรหรืออย่างใดๆ ก็ดี เมื่อพิจารณาโดยส่วนรวมเทียมกัน ต้องอย่าให้ยิ่งกว่าที่พลเรือนในแว่นแคว้นของต่างประเทศ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงติดต่อกันนั้นต้องเกณฑ์ ต้องเสียอยู่เป็นธรรมดา เมื่อพิจารณาเทียบกันแต่เฉพาะอย่าง ต้องอย่าให้ยิ่งหย่อนกว่ากัน จนถึงเหตุเสียหายในการปกครองได้

ข้อ 3 การกดขี่บีบคั้นแต่เจ้าพนักงานของรัฐบาล เนื่องแต่การหมั่นดูแคลนพลเมืองชาติแขก โดยฐานที่เป็นคนต่างชาติก็ดี เนื่องแต่การหน่วงเหนี่ยวชักช้าในกิจการตามหน้าที่ เป็นเหตุให้ราษฎรเสียความสะดวกในทางหาเลี้ยงชีพก็ดี พึงต้องแก้ไขระมัดระวังมิให้มีขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องให้ผู้ทำผิดรองรับผลตามความผิดโดยยุติธรรมไม่ใช่สักแต่ว่าจัดการกลบเกลื่อนให้เงียบไปเสียเพื่อจะไว้หน้าสงวนศักดิ์ของข้าราชการ

ข้อ 4 กิจการใดทั้งหมดอันเจ้าพนักงานต้องบังคับแก่ราษฎร ต้องระวังอย่าให้ราษฎรต้องขัดข้องเสียเวลา เสียการในทางหาเลี้ยงชีพของเขาเกินสมควรแม้จะเป็นการจำเป็นโดยระเบียบการก็ดี เจ้าหน้าที่พึงสอดส่องแก้ไขอยู่เสมอเท่าที่สุดจะทำได้

ข้อ 5 ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนมีนิสัย ซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่ใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้ตำแหน่ง หรือส่งไปเป็นทางลงโทษเพราะเลว เมื่อจะส่งไปต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง โดยหลักที่กล่าวได้ว่า ในข้อหนึ่งและข้อสี่ข้างบนนั้นแล้ว ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกฝนอบรมกันต่อๆ ไปในคุณธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงว่ากล่าวโทษ

ข้อ 6 เจ้ากระทรวงทั้งหลายจะจัดการวางระเบียบการอย่างใดขึ้นใหม่ หรือบังคับการอย่างใดในมณฑลปัตตานี อันจะเป็นทางพากพานถึงสุขทุกข์ราษฎรก็ควรพิจารณาเหตุผลแก้ไขหรือยับยั้ง ถ้าไม่เห็นด้วยว่า มีมูลขัดข้อง ก็ควรหารือกระทรวงมหาดไทย แม้ยังไม่ตกลงกันได้ระหว่างกระทรวง ก็พึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย

ซึ่งแนวรัฐประศาสโนบาย 6 ประการ ได้ใช้เป็นแนวทางการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ได้ให้เป็นแนวทางสำหรับข้าราชการ ในระดับจังหวัด อำเภอ ได้ดำเนินการในพื้นที่ จชต. อย่างเคร่งครัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้นำมาเป็นหลักยึดในการวางกรอบการทำงานแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะมิติทางสังคมจิตวิทยาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเมื่อห้วงเวลาหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2547 ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทุกภาคส่วนได้รับยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 มาเป็นเข็มทิศนำทางนับตั้งแต่นั้นมาทุกหน่วยงานโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำกรอบแนวทางรัฐประศาสโนบายประกอบกับยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาปรับประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางกรอบการพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายพลเรือน ทั้งผู้ที่บรรจุใหม่ ย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่ หรือในการฝึกอบรมข้าราชการฝ่ายพลเรือนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายมีความเข้าใจ สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร กล่าวอีกว่า ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 จะเป็นวันครบรอบ 100 ปี ของหลักรัฐประศาสโนบาย ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้จัดกิจกรรมสำคัญขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และกระตุ้นจิตสำนึก ของข้าราชการและบุคลากรของรัฐให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบและทำงานอยู่ภายใต้แนวทางหลักรัฐ ประศาสโนบาย 6 ประการ อย่างเต็มขีดความสามารถ โดยมีกิจกรรมล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนวันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งได้จัดแสดงนิทรรศการ รายอกีตอ ตอน “100 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนำ สืบสาน สู่การปฏิบัติ” ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การจัดแสดงนิทรรศการในงานกาชาดจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส

สำหรับในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ก็จะมีการจัดกิจกรรมหลายด้านที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการ 100 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนำ สืบสาน สู่การปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกในเชิงสร้างสรรค์ เช่น การประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ และประกวดขับร้องอนาซีด ระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เรื่อง “รัฐประศาสโนบาย และยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา กับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” รวมทั้งมีการแสดงวงดนตรีออร์เคสตรา จากเทศบาลนครยะลา พร้อมกันนี้ได้ทำหนังสือกราบเรียนเชิญองคมนตรีมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งในวันดังกล่าวจะมีการเชิญส่วนราชการ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา มาร่วมกิจกรรม รวมทั้งพี่น้องสื่อมวลชนเพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นจิตสำนึกตามที่กล่าว